Home » อิทธิฤทธิ์และเอกลักษณ์แห่ง “ครุฑยุดแตรงอน”

อิทธิฤทธิ์และเอกลักษณ์แห่ง “ครุฑยุดแตรงอน”

  • by

            ครุฑ เป็นสัตว์กึ่งเทพ ปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่องของไทยในฐานะพาหนะของพระนารายณ์ ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงมีการสร้างรูปครุฑพ่าห์ หรือครุฑกางปีก ใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

            แล้วทำไมต้องยุดแตรงอน อาจเป็นเพราะแต่เดิมในตำนานมีครุฑยุดนาค เมื่อสัญลักษณ์ครุฑตราแผ่นดิน มาพบกับแตรงอน อันเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารสากล รวมเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมไปรษณีย์โทรเลขในอดีต ประติมากรชั้นครูอย่าง อ.ศิลป์ พีระศรี และทีมศิษย์รุ่นแรก จึงรังสรรค์ชิ้นงานเป็นคู่พญาครุฑขนาด 3 เท่าของคนจริงในท่วงท่าสยายปีกสองเท้าจับบนแตรงอน เด่นตระหง่านซ้ายขวาบนยอดมุขกลางของอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ในทีมศิษย์นั้นมี แช่ม แดงชมพู ปั้นแขนครุฑ สิทธิเดช แสงหิรัญ ปั้นปีก และพิมาน มูลประมุข ปั้นลำตัว ในลักษณะศิลปะประดิษฐ์โชว์กล้ามเป็นมัดพร้อมซิกแพกดูน่าเกรงขาม โดยไร้ลวดลายประดับเหมือนครุฑอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น

Image

              เอ่ยถึงพญาครุฑ…มาพร้อมกับความเชื่อที่ว่ามีอำนาจบารมีปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ปราบอาถรรพ์ จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านละแวกอาคารไปรษณีย์กลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พากันเล่าลือว่า ตึกใหญ่โตหลังนี้รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ ก็เพราะมีสองพญาครุฑคอยปัดป้องลูกระเบิดให้ไปตกที่อื่นแทน เมื่อนักข่าวไปถามหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขขณะนั้นว่า ตึกไปรษณีย์กลางมีอะไรดีมาช่วยคุ้มครอง ได้รับคำตอบว่า “มีซีคุณ…ของดี เมื่อเวลาสร้างตึกนี้ ไม่มีใครไปกินกำไรสักสตางค์ แล้วนั่นไม่ใช่ของดีเหรอ…”

Image

              จนถึงวันนี้ อาคารไปรษณีย์กลางที่ยืนยงมานานถึง 80 ปี ยังคงความโดดเด่นทั้งสถาปัตยกรรม และประติมากรรมงานศิลป์ชั้นเลิศ ตลอดจนประวัติศาสตร์บอกเล่ากิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคมของประเทศ ในช่วงพัฒนาชาติบ้านเมืองสู่ความศิวิไลซ์ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ กว่าจะเปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน ในวันไปรษณีย์โลก 9 ตุลาคมของทุกปี จึงเป็นโอกาสให้มองย้อนไปยังจุดเริ่มต้นกิจการไปรษณีย์แห่งสยามประเทศตั้งแต่ปี 2426 เคียงคู่คนไทยมานานกว่าศตวรรษ แม้ตราครุฑยุดแตรงอนอาจเหลือเพียงภาพจำของผู้คนร่วมยุคร่วมสมัย แต่ภารกิจของไปรษณีย์ไทยในวันนี้ด้วยสัญลักษณ์”ซองบิน” ยังคงมุ่งหน้ารับใช้สังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง

Image

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *