Home » ย่างสู่ 80+1 ปี ไปรษณีย์กลาง ร้อยสิ่งเปลี่ยนผัน สำคัญไฉน?

ย่างสู่ 80+1 ปี ไปรษณีย์กลาง ร้อยสิ่งเปลี่ยนผัน สำคัญไฉน?

  • by

“อาคารไปรษณีย์กลาง” เป็นอาคารหลังโตโอ่อ่า ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกและสายเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ หากเปรียบเป็นญาติผู้ใหญ่ ก็คงไม่ต่างจากญาติสนิทชิดใกล้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันเกือบ  81 ปี  ในเดือนมิถุนายนที่จะถึง

หลายคนมีความทรงจำ ความรัก ความผูกพันกับอาคารหลังนี้ อาจจะเป็นสถานที่ทำงานที่แรกสำหรับใครบางคน ที่ที่ทำให้เราตกหลุมรักงานอดิเรกคู่ใจอย่างการสะสมแสตมป์ ที่ที่เราเคยส่งข่าวร้าย ได้รับข่าวดี หรืออาจจะเป็นที่ที่ถูกขอแต่งงานจากคนรักเก่า อาคารไปรษณีย์กลางจึงไม่เพียงทำหน้าที่ให้บริการทางไปรษณีย์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนสถานที่แห่งความทรงจำที่หลายคนหวงแหนอีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2478 อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านหลังใหม่ของ “กรมไปรษณีย์โทรเลข”  และเป็น  “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง” (General Post Office : GPO) ใต้ชายคาเดียวกัน หลังจากใช้ตึกเก่าของสถานกงสุลอังกฤษมาแล้วพบว่า  ไม่ตอบโจทย์ภารกิจที่ขยายตัวเติบใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ  จนไม่รองรับผู้คนและกิจการอันหลากหลายได้  ประกอบกับมีแนวคิดจะสร้างอาคารให้สวยงามใหญ่โตเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ  

การก่อสร้างดำเนินเรื่อยมา กระทั่งแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2483 เวลา 16:03 น. โดยมีนายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ให้เกียรติมาเป็นประธาน

ในเวลาต่อมา มีการปรับปรุงเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่รอบตัวอาคารอีกครั้งเพื่อรองรับปริมาณงาน  อาทิ  การก่อสร้างอาคารบัญชาการในบริเวณด้านหลัง   การก่อสร้างตึกบริการไปรษณีย์ขึ้น คู่ขนานกับอาคารใหญ่ เป็นต้น จนกระทั่ง มีการปรับเปลี่ยนสถานะของหน่วยงาน สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นสำนักงานใหญ่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) ตั้งแต่ปี 2520 แทนกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งได้ย้ายไปอยู่ในซอยสายลม ถนนพหลโยธิน  

สำหรับอาคารด้านหน้าถนนเจริญกรุง ซึ่งผู้คนจะคุ้นเคยกับบทบาทของ “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง” เดิมยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระบบส่งต่อสิ่งของนำจ่ายทางไปรษณีย์ ในหมู่คนไปรษณีย์จะเรียกกันว่า “ที่ทำการกลางผ่าน” รวมถึงเป็น “ที่ทำการกลางจ่าย” จนถึงปี 2528 ภารกิจนี้จึงส่งต่อไปยังศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯที่จัดตั้งขึ้นมาทดแทน และในปี 2529 กสท. ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ  จากนั้นยังมีการปรับพื้นที่ในสถานที่เดิมโดยก่อสร้างอาคารด้านโทรคมนาคมสูง 30 ชั้นขึ้นมาเพิ่มเติมด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ล่วงถึงปี  2546  ได้มีการแยกกิจการออกเป็นสองบริษัท  คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท  กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  โดยต่างมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แจ้งวัฒนะ  ทำให้ตัวอาคารซึ่งใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์กลางอยู่ในความดูแลของไปรษณีย์ไทย    ขณะที่อาคาร 30 ชั้น   รวมถึงศูนย์บริการด้านหน้าข้างไปรษณีย์กลางเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท โทรคมนาคม  

ในเวลานั้นแม้มีการเสนอแนวคิดตั้งชื่ออาคารหลังปรับปรุงใหม่เป็น “อาคารไปรษณีย์อภิวรรธน์ : The GPO Legacy Place” แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นชื่อที่เรียกยากจำยาก ลงท้ายจึงคงให้ใช้ชื่อเดิมที่คุ้นเคยกันมา นั่นคือ “อาคารไปรษณีย์กลาง”   แต่มีการปรับชื่อภาษาอังกฤษเสียใหม่เป็นคำว่า “Grand Postal Building” และเปิดอย่างเป็นทางการในโอกาสครบรอบ 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย และ 10 ปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2556

นับแต่นั้นมา อาคารประวัติศาสตร์หลังนี้ซึ่งยังคงความยิ่งใหญ่งามสง่า จึงเรียกขานตามชื่อที่กำกับอยู่บนตัวอาคารอย่างเป็นทางการว่า  “อาคารไปรษณีย์กลาง Grand Postal Building” พร้อมกับมีที่ทำการไปรษณีย์กลาง หรือ General Post Office เป็นจุดให้บริการอยู่ด้านปีกซ้ายของอาคาร ก่อนมีการปรับย้ายมาอยู่ในพื้นที่โถงกลางตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

ด้วยกาลเวลาที่ผ่านมานานกว่า 8 ทศวรรษ หากมองย้อนกลับไปจะเห็นถึงร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงมาครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งสถานะของหน่วยงาน รูปแบบทางธุรกิจและบริการ ไปจนถึงชื่อที่เรียกขาน เพื่อให้สอดคล้องตอบรับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนเป็นธรรมดา แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่สำคัญเท่ากับเรื่องราวที่ได้จารึกอยู่คู่กับตัวอาคารไปรษณีย์กลาง ในการทำหน้าที่ให้บริการประชาชนตามเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ไม่เสื่อมคลาย

และจักยังคงเป็น “อาคารไปรษณีย์กลาง” หลังเดิมที่ตั้งตระหง่านสง่างามยืดหยัดเคียงคู่คนไทย เป็นศูนย์รวมทั้งการให้บริการที่ก้าวหน้าทันสมัย   เป็นแลนด์มาร์กและแหล่งเรียนรู้อันสมภาคภูมิทั้งของชาวไปรษณีย์เอง ผู้คนในชุมชน ตลอดจนสังคมไทยและประเทศชาติไปอีกนานเท่านาน

สำหรับคนที่อยากทำความรู้จักอาคารไปรษณีย์กลางให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม  ขอเชิญชวนเข้าไปดูได้ทั้งภายนอกและภายในอาคารอย่างใกล้ชิดในรูปแบบเสมือนจริง  หรือ  Virtual  Reality คลิกลิงก์ https://vrthailandpost.com/VR9/index.htm รวมถึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญผ่านทางเว็บไซต์ https://vrthailandpost.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *